ยั่งยืนที่แท้จริง: วิธีการสร้างทีมในแบบที่เสียตัวหลักเท่าไหร่ก็ยังไปต่อได้
เซเรโซ โอซากา คือสโมสรแรกที่นำเอานักเตะต่างชาติมาค้าแข้งในญี่ปุ่น และพวกเขาเริ่มทำตั้งแต่ยุค 60s
มองเผิน ๆ นี่อาจจะเป็นเหมือนการให้ความสำคัญกับนักโควต้าตรงนี้ มากกว่าการปั้นเยาวชน แต่ในทางกลับกันพวกเขากลับเป็น 1 ในสโมสรที่ มีการลงทุนอย่างยั่งยืน และสามารถสร้างนักเตะเยาวชนส่งออกไปค้าแข้งในยุโรปได้มากมาย
แสวงหาความแตกต่างจากนักเตะต่างชาติ การปั้นดาวรุ่งผลักดันให้ไปเล่นในยุโรป หรือการปั้นและสตาร์ท้องถิ่นเพื่อส่งต่อไปยังทีมอื่น ๆ เพื่อทำกำไร ทั้งหมดนี้ไปด้วยกันได้ ภายใต้การทำงานของสโมสรแห่งนี้
นี่คือกลยุทธ์การสร้างทีมของพวกเขา ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นสโมสรระดับไหน คุณก็สามารถเอาแนวทางนี้ไปใช้ได้
นโยบายที่ชัดเจน
เซเรโซ โอซาก้า คือ 1 ในสโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น แต่ประเด็นคือพวกเขาไม่เคยคว้าแชมป์ เจลีก ได้เลย แม้ว่าจะก่อตั้งสโมสรมากว่า 63 ปี นับตั้งแต่สมัยใช้ชื่อว่า ยันมาร์ ดีเซล ...
อย่างไรก็ตามมีปณิธานข้อหนึ่งที่ล้ำหน้ายิ่งกว่าสโมสรอื่นๆ นั่นคือการสร้างทีมเพื่อความแข็งแกร่งของภาพรวมวงการญี่ปุ่น รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชนที่เป็นเหมือนเสาหลักที่อยู่คู่กับสโมสรแห่งนี้มาโดยตลอด ส่วนแชมป์นั้น "แค่เรื่องเล็ก"
เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ มาโกคิชิ ยามาโอกะ ได้ก่อตั้งบริษัท "ยันมาร์" ขึ้นมาในหมู่บ้านเกษตรกรเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง จุดเริ่มต้นไม่ใช่เกิดจากความที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจหรือความมั่งคั่ง แต่เป็นการพยายามที่จะทำให้ พ่อ-แม่ ของเขาทีเป็นเกษตรกรได้มีสิ่งที่มาแบ่งเบาภาระ ให้ได้ใช้ชีวิต และมีความสบายในแบบที่ควรจะเป็น ..
นั่นเองทำให้ เซเรโซ โอซาก้า มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับชุมชนท้องถิ่นผ่านโครงการริเริ่มและประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่ทางสโมสรร่วมมือกับโรงเรียน องค์กรการกุศล และองค์กรในท้องถิ่นเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
จะเห็นได้ว่าตัวบริษัทแม่อย่าง ยันมาร์ และสโมสรฟุตบอลอย่าง เซเรโซ โอซาก้า มีแนวคิดที่ตรงกันนั่นคือการาร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้กับผู้คนรอบ ๆ องค์กร ซึ่งถามว่าพวกเขาจะได้อะไรกับมาจากแนวคิดแบบนี้ ?
คำตอบของคำถามนี้คือ ... เมื่อคุณพัฒนาไปพร้อมกับชุมชน พวกเขาจะตอบแทนคุณกลับโดยที่คุณไม่ต้องร้องขอ และถึงตอนนั้นคุณจะได้ในสิ่งที่มากกว่าคุณตั้งเป้าหมายเอาไว้ด้วยซ้ำ
แม้ฟังดูแล้วจะเป็นนโยบายที่ดูโลกสวยสวนทางกับโลกฟุตบอลยุคปัจจุบัน แต่ความจริงคือ เซเรโซ คือทีมที่ตั้งใจจะสร้างนักฟุตบอลท้องถิ่นให้ก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะแถวหน้าของประเทศ และเมื่อไปถึงจุดนั้นได้แล้ว ก็จะเป็นสเต็ปต่อไปที่พูดได้ว่าเป็นการเสียสละเต็มรูปแบบของสโมสร นั่นคือพวกเขาจะปล่อยเด็กๆ ที่ขุนขึ้นมากับมือให้ไปเล่นกับสโมสรในยุโรปด้วยค่าตัวที่ถูกเสียยิ่งกว่าถูก ... จะด้วยอำนาจในการต่อรองหรืออะไรก็ตาม ค่าตัวของนักเตะบางคนถูกกว่าการซื้อขายนักเตะในไทยลีกยุคปัจจุบันเลยด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตามการปั้นนักเตะนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะอยากปั้นดาวรุ่งขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่ความจริงคือ การจะก้าวจากระดับลีกญี่ปุ่นสู่ลีกยุโรปนั้น มีโควค้าเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น และโควต้าดังกล่าวจะต้องเป็นของนักเตะที่เก่งจริง ในระดับ "เดอะ แบก" ที่ทีมขาดไม่ได้
หากไล่เรียงนักเตะที่ เซเรโซ ปลุกปั้นและส่งไปยุโรป ไล่เรียงมาตั้งแต่ ชินจิ คากาวะ (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์), ทาคาชิ อินุอิ (โบคุ่ม), ฮิโรชิ คิโยทาเกะ (เนิร์นแบร์ก), โยอิชิโระ คาคิตานิ (บาเซิล) โฮตารุ ยามากุชิ (ฮันโนเวอร์) และสุดท้าย ทาคุมิ มินามิโนะ (เร้ดบูล ซัลซ์บวร์ก)
จากราคาการปล่อยนักเตะระดับคีย์แมนเหล่านี้จะเห็นได้ว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก หากเทียบกับตลาดซื้อขายในยุคที่นักเตะเกรดธรรมดาๆ โดนซื้อกันในราคาหลัก 10 ล้านยูโร ในตลาดโลก ซึ่งการที่ เซเรโซ่ ยอมปล่อยสมบัติของสโมสรออกไปในราคาที่ถูกขนาดนี้ ก็พอจะที่จะยืนยันถึงปณิธานของสโมสรที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งในภาพรวมของชุมชอน และวงการฟุตบอลญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
และที่สำคัญ พวกเขาผลิตนักเตะระดับนี้ขึ้นมาเรื่อย ๆ ได้ด้วยโครงสร้างที่แข็งแกร่งและยั่งยืนที่สุดนั่นคือ "การให้ความสำคัญกับระบบเยาวชน"
นักเตะอยู่แล้วไป แต่สโมสรนั่นอยู่ยั้งยืนยง
เซเรโซ โอซาก้า คือสโมสรที่ให้ความสำคัญกับระบบอคาเดมี่เป็นอย่างมาก โดยมีเยาวชนครบทุกรุ่นอายุ ตั้งแต่ U12 จนถึงรุ่น U23 ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งทีมหญิงและทีมชาติ โดยทุก ๆ ทีมล้วนเป็นสมาชิกของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น และสหพันธ์ฟุตบอลเยาวชนสโมสรญี่ปุ่นทั้งหมด
กว่าที่พวกเขาจะได้เด็ก ๆ เข้าสู่ทีมเยาวชน ก็ผ่านการคัดสรรที่ละเอียดยิบ โดยเฉพาะในช่วงรุ่นอายุที่ใกล้ ๆ จะได้ขึ้นทีมชุดใหญ่นั้น มีนักเตะหลายคนที่สโมสรส่งแมวมองไปดูฟอร์มตามสนามแข่งขันฟุตบอลเยาวชน หรือฟุตบอลโรงเรียนทั่วประเทศ อาทิ รายของ ชินจิ คางาวะ ที่สโมสรได้ส่ง อากิโกะ โคกิกุ แมวมองของทีมเยาวชน ณ เวลานั้น (ปัจจุบันกลายเป็นกุนซือของทีม เซเรโซ โอซาก้า ชุดใหญ่แล้ว) ตามไปดูฟอร์มของเด็กนรกจาก เซ็นได เมืองที่อยู่ห่างจาก โอซาก้า ถึง 800 กิโลเมตร และสิ่งที่พวกเขาได้กลับมาคือ 1 ในนักเตะที่ยอดเยี่ยมที่สุดอย่าง คางาวะ จากทีมระดับเยาวชนท้องถิ่นที่ชื่อ เอฟซี มิยางิ บาร์เซโลน่า
เมื่อพวกเขาเฟ้นหานักเตะเยาวชนฝีเท้าดีทั้งจากชุมชน และจากทั่วประเทศแล้ว พวกเขาก็จะตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนนั่นคือ "พัฒนาผู้เล่นที่สามารถประสบความสำเร็จไปทั่วโลก" ซึ่งนอกจากเรื่องของผลการแข่งขันแล้ว ผู้เล่นที่ระดับเยาวชนทีมชาติที่อยู่ในทีมเยาวชนของทีม จะถูกส่งไปบ่มเพาะฝีเท้ายังต่างประเทศ มีเกมเยือนเจอกับทีมต่างชาติ เพื่อฝึกฝนนักเตะในระดับสภาพแวดล้อมที่สูงกว่าการเล่นแต่กับทีมในญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว
ถ้าถามว่าแนวทางการพัฒนาเยาวชนของ เซเรโซ โอซาก้า ได้ผลขนาดไหน ก็ต้องบอกว่าพวกเขาดันนักเตะจากเยาวชนขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ทุกปี มีนักเตะหลายคนที่เป็นสัญลักษณ์ของสโมสรที่เติบโตมาจากเยาวชนของทีมอย่าง ยูสุเกะ มารุฮาชิ, ริวยะ นิชิโอะ, โชตะ คิตาโนะ, ทาคุมะ มินามิโนะ และคนอื่น ๆ อีกมากมาย
หากนับในช่วงหลังปี 2000s เป็นต้นมา เซเรโซ โอซาก้า ผลักดันนักเตะในระดับเยาวชนของตัวเองขึ้นมาเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ของพวกเขามากถึง 92 คน ซึ่งสาเหตุที่พวกเขาผลักดันแข้งท้องถิ่นได้เยอะขนาดนี้ เพราะความใส่ใจในทุกขั้นตอน นอกจากจะระบบการคัดสรรนักเตะที่ดี มีโค้ชที่ตาถึงแล้ว พวกเขายังลงทุนกับศูนย์ฝึกซ้อม เพื่อให้พัฒนาการของเด็ก ๆ พุ่งทะยานขึ้นเร็วยิ่งกว่าเดิม
ศูนย์ฝึกของ เซเรโซ โอซาก้า มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อมแบบครบรูปแบบ มีการติดตั้งเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกแบบใหม่ล่าสุดตามเทรนด์ เพื่อให้ผู้เล่นมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและการเพิ่มประสิทธิภาพมากที่สุด
เมื่อทุกอย่างพร้อม พวกเขาก็จะมีนักเตะคอยเสิร์ฟขึ้นชุดใหญ่ตลอดทุก ๆ ปีไม่มีขาดตกบกพร่อง ซึ่งต่อไปคือเรื่องของปลายน้ำที่นักเตะเด็ก ๆ ของพวกเขา จะได้รับการผลักดันให้ไปไกลยิ่งกว่าการเล่นในประเทศเมื่อโอกาสนั้นมาถึง
ดังนั้นสโมสรจะมีปัญหาเรื่องการปล่อยนักเตะระดับสตาร์ของทีมออกไปและทีมเสียศูนย์น้อยมาก ดูได้จาก ณ เวลานี้ ที่ เซเรโซ โอซาก้า เกาะอยู่ในลีกสูงสุดมาตลอด โดยนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขาตกชั้นไปเพียง 1 ครั้งเท่านั้น และสามารถจบอันดับท็อป 5 ได้ถึง 4 หน นับตั้งแต่ปี 2016 ที่พวกเขากลับมาใช้นโยบาย การสร้างเยาวชนอย่างยั่งยืน
เลือกโค้ชที่ใช่ ... เข้าใจปรัชญา
การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของ เซเรโซ โอซาก้า ที่ทำให้พวกเขาไม่เสียศูนย์แม้ต้องปล่อยนักเตะที่เด่นที่สุดในทีมออกไป เกิดขึ้นจากการเรียนรู้จากความผิดพลาด โดยในช่วงที่สโมสรตกชั้นไปเล่นในระดับเจลีก 2 ช่วงปี 2014-2015 ว่ากันว่าเกิดจาก สโมสรมองเป้าไปที่การทวงความยิ่งใหญ่ จนลืมมองรากฐานแบบที่เคยเป็นมา
พวกเขาพยายามมากเกินไปจนเสีย DNA ของตัวเอง เซเรโซ ใช้เงินกับการซื้อนักเตะดังรวมถึงการจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะระดับทีมชาติญีปุ่น ทว่าผลลัพธ์กลับออกมาสวนทาง ยิ่งทำยิ่งห่างไกลความเป็นจริง และก่อนที่ปณิธานอันแรงกล้าของสโมสรจะสูญเสียไป พวกเขาก็รู้ตัวทันจนได้
การแต่งตั้งโค้ชคนใหม่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2021 พวกเขากลับมาเชื่อมั่นในตัวของโค้ชที่อยู่กับทีมมานาน เข้าใจปรัชญาของทีม และเห็นความเป็นไปของสโมสรนี้ รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ที่สุดแล้ว อากิโกะ โคกิกุ ก็ได้คุมทีมชุดใหญ่อย่างเป็นทางการครั้งแรกในชีวิต
โค้ชอากิโกะ กลับมาพร้อมปรัชญาที่เขาเรียนรู้มานานมากกว่า 20 ปี นั่นคือเขาเริ่มปล่อยสตาร์ของทีมที่เล่นได้ไม่ดี ไม่ตอบโจทย์ออกไป และเริ่มหยิบจับดาวรุ่งที่ปล่อยไปหาประสบการณ์กลับมาเล่นให้กับทีมอีกครั้ง
สำหรับการเป็นแชมป์ลีกมันอาจจะไม่ง่ายนักสำหรับการใช้ทีมคนหนุ่มที่เพิ่งตั้งใจกลับมาสร้างอีกครั้ง ทว่าสำหรับฟุตบอลถ้วยอย่าง ลูวาน คัพ โค้ชอากิโกะ ได้นำพาเอาทีมที่สะท้อน DNA ของสโมสร เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นสิ่งที่สโมสรนี้ไม่ได้สัมผัสมาตั้งแต่ปี 2017
แม้ที่สุดเเล้วในปี 2021 เซเรโซ จะแพ้ให้กับ นาโงย่า แกรมปัส ในรอบชิงชนะเลิศ 0-2 แต่หลังจากวันนั้นเด็ก ๆ ของ โค้ชอากิโกะ ก็เเข็งแกร่งขึ้นเรื่อย พวกเขาเรียนรู้จากความผิดหวัง และความผิดพลาดในอดีต จนสามารถกลับเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศ ลูวาน คัพ 2022 ได้อีกครั้ง
ขณะที่ผลงานในลีกที่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอและแน่นอนนั้นก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น นับตั้งแต่พวกเขาเอาปรัชญาเดิม และโค้ชที่เข้าใจ DNA อย่าง อากิโกะ เข้ามาคุมทีมในปี 2021 เซเรโซ โอซาก้า ก็ยังไม่เคยจบฤดูกาลด้วยการอยู่ต่ำกว่าอันดับที่ 9 เลยแม้แต่ครั้งเดียว ขณะที่ในฤดูกาล 2023-24 เซเรโซ โอซาก้า ก็อยู่ในอันดับ 6 ของตาราง โดยมีแต้มห่างจากจ่าฝูงอยู่ 10 แต้ม โดยยังเหลือโปแกรมให้เล่นอีกครึงซีซั่น ... ดังนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งผลักดันผู้เล่นเยาวชนเข้ามา การวิเคราะห์อย่างละเอียดในโควต้าต่างชาติกว่าจะเอาใครเข้า ใครออก รวมถึงวิธีการเล่นตาม DNA ของสโมสร ทำให้ เซเรโซ โอซาก้า ไปต่อได้เรื่อย ๆ แม้จะไม่ได้พุ่งทะยานฟ้า แต่พวกเขาก็รักษาเพดานบินไว้ได้เป็นอย่างดี และค่อย ๆ ขยับให้มันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปีที่ผ่านไป ... ดังนั้นต่อให้พวกเขาต้องเสียตัวหลักอีกในซีซั่นนหน้า แนวทางที่ยั่งยืนนี้ จะทำให้พวกเรารักษามาตรฐานได้อย่างไม่เสียศูนย์ ไม่ว่าจะในรูปแบบของวิธีการและผลลัพธ์ในแต่ละปีก็ตาม
จะเห็นได้ว่าการมีแนวคิดที่ชัดเจน สามารถทำมาสู่เส้นทางความยิ่งใหญ่และความสำเร็จมากมาย ทำได้ตามเป้าหลายอย่างทั้งการเข้าหาชุมชน การสร้างนักเตะเยาวชนส่งไปเล่นในยุโรป รวมถึงการรักษาพื้นที่บนลีกสูงสุดเอาไว้ และมีลุ้นบอลถ้วยในทุก ๆ ปี ทุกอย่างสามารถไปด้วยกันได้ หากมีการวางแผน และเตรียมการทุกอย่างมาอย่างดี เหมือนที่ เซเรโซ โอซาก้า กำลังทำในตอนนี้นั่นเอง