ยิงยังไงให้ชนะ 100% ? : เจาะเคล็ดลับการดวลจุดโทษแบบไร้พ่ายของ เยอรมัน

ยิงยังไงให้ชนะ 100% ? : เจาะเคล็ดลับการดวลจุดโทษแบบไร้พ่ายของ เยอรมัน
วิศรุต หล่าสกุล

สถิติไร้พ่ายในโลกฟุตบอล เป็นอะไรที่น่าทึ่ง แต่ส่วนมากมักจะอยู่ไม่เกินปีหรือสองปี ก็เป็นอันต้องหยุดลง กระนั้น ก็ยังมีอย่างหนึ่ง ที่ยังสถาพร อยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ "จุดโทษไร้พ่าย" ของทีมชาติเยอรมนี ในทัวร์นาเมนต์รายการเมเจอร์ของโลกฟุตบอล

เพราะนับตั้งแต่พ่ายจุดโทษต่อ เช็กโกสโลวาเกีย ในแมทช์ชิงชนะเลิศ ยูโร 1976 รอบชิงชนะเลิศ พลพรรคอินทรีเหล็ก ก็ไม่พลาดท่าในการดวลฎีกาแก่ทีมชาติใดๆ อีก ร่วมเกือบครึ่งศตวรรษ เข้าไปแล้ว

พวกดอยช์มีเคล็ดลับอะไร? เหตุใดจึงเหนียวเคี้ยวยากยิ่งกว่าซอยจุ๊? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา

Contest & Ball recovery time : 2 สถิติใหม่ในบอลโลกที่ยืนยันว่ายุคนี้คือยุค ”เพรสซิ่งฟุตบอล” | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
เชื่อว่าในฐานะเเฟนบอล เวลาเปิดดูถ่ายทอดสดการเเข่งขันฟุตบอล สิ่งเเรกที่เราโหยหาคือ ชื่อทีม สกอร์เเละเวลา ในการเเข่งขัน ถ้าไม่มีให้เห็นมันจะรู้สึกโหวงๆแปลกๆ อึดอัดอย่างบอกไม่ถูกx

ติดตั้งแนวคิดไม่ให้เหวอก่อนยิงหรือเซฟ

แน่นอนว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการยืนระยะการเป็นราชันย์จุดโทษไร้พ่ายของเยอรมนี ย่อมหนีไม่พ้นการฝึกสอน พัฒนา และเสริมสร้างมาตรฐานไปที่ “นักฟุตบอล” เป็นประการแรก โดยสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดในการเทรนมาช้านานนั้น ก็คือแนวคิดที่เรียกว่า "แนร์แฟนสแตร์เคอ (Nervenstärke)"

ชุดศัพท์ที่ออกเสียงแสนยากเย็นนี้ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "จิตประสาทสุดแกร่ง (strength of nerves)” ซึ่งเป็นวิธีคิดที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ยุค 80s โดยกระทำการผ่านการติดตั้งโดยโค้ช คนฝึกสอน หรือแม้กระทั่งการสะกดจิตตนเอง ให้พึงระลึกเสมอว่า ข้าแน่ ข้าแกร่ง ข้าเจ๋งสุด ข้าจะมาแพ้ตรงนี้ไม่ได้

หรือก็คือ เป็นการติดตั้งดีเอ็นเอของ “ความมั่น” ในตัวนักเตะ ให้เธอจะต้องชนะ เธอจะต้องไม่แพ้ ชนะตามที่เธอหวัง ภายใต้ความกดดันมหาศาลจากการยิงจุดโทษ ตรงนี้ อันเดรียส ค็อปเค่(Andreas Köpke) อดีตนายทวารทีมชาติเยอรมนีได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

Photo : Transfermarkt
“นั่นแหละ สิ่งที่ทำให้เรายิง 18 พลาดเพียงหนเดียว เพราะเราเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตประสาทสุดแกร่ง และความมั่น ก่อนจะง้างเท้ายิงหรือเซฟ กายพร้อม ใจพร้อม คือความลับของเรา เดินเข้ากรอบ 18 หลาด้วยความสง่า เรามั่นใจว่ายิงไป ผลลัพธ์ที่ตามมาจะดีงามแน่นอน

พร้อมกล่าวเสริมอีกว่า “จริงๆ ตอนยิงก็ไม่มีใครทราบ มารู้สถิติภายหลังนี้เอง ... มันก็แค่จิตประสาทสุดแกร่งหนะ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ”

ตรงนี้ อาจจะบอกได้ว่า จิตประสาทสุดแกร่งนั้น มีลักษณะเป็น “ชุดคุณค่า (Virtue)” ที่ติดตัวนักเตะสัญชาติเยอรมันมาแต่กำเนิด หรือที่ในภาษาปัจจุบันเรียกว่า “บอร์น ทู บี” คือสามารถที่จะสอนกันได้ บอกกันได้เพียงระดับหนึ่ง หากแต่เมื่อไปเจอหน้างานของจริง สิ่งนี้จะได้รับการงัดขึ้นมาใช้โดยอัตโนมัติ ซึ่งการใช้ได้ดีหรือไม่ดีนั้น อยู่ที่ตัวนักเตะล้วนๆ

แน่นอน สิ่งพวกนี้ไม่ใช่ว่านึกอยากจะยัดอยากจะสร้างตอนไหนก็จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็เพราะว่า นักเตะดอยช์ลันด์ไม่ว่ากี่รุ่นต่อกี่รุ่น ต่างเก็ทฟีลและตระหนักรู้ชุดคุณค่านี้ในหัวแล้ว ฉะนั้น ยิงเท่าไรก็เข้า เซฟเท่าไรก็หนึบ และดวลฎีการเมื่อไรก็ได้รับชัยชนะเสมอ

“นี่เอง คือเหตุผลที่เราสยบอังกฤษได้ใน ยูโร 96” อันเดรียส ค็อปเค่ กล่าวขิง

Photo : iNews

กระนั้น แม้จิตประสาดสุดแกร่งจะมีอยู่ในตัวนักเตะเยอรมนีทุกคน แต่ที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด นั้นคือตำแหน่งผู้รักษาประตู เพราะในระยะประมาณ 18 หลานั้น การยิงให้ตุงตาข่าย ง่ายกว่าการ “เชฟ” เป็นไหนๆ

“ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ เราไม่เคยขาดนายทวารที่เกิดมาเพื่อเซฟจุดโทษเลย” อันเดรียส ค็อปเค่ ยังคงยืนกราน

ซึ่งนายทวารเยอรมนีส่วนมาก นอกจากจะได้รับการฝึกซ้อมการเซฟแบบทั่วๆ ไป อยู่เป็นประจำแล้ว ยังได้เสริมไปอีกขั้นโดยการ “จำลอง” ความคิดของตน ให้มีความรู้สึกแบบเดียวกันกับคนที่จะต้องสังหารจุดโทษ

หรือก็คือ บรรดานายทวาร จะมีความ “เข้าใจ” ว่า คนที่จะต้องไปเผชิญหน้านั้น มีความนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึก ในการยิงอย่างไร และก็จะทำให้คาดคะเน แนวโน้มทิศทาง เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการพุ่งเซฟได้

ติอาโก้ ซิลวา : แนวรับบราซิลที่คงยังยืนหยัดในเวทีระดับโลก แม้วัยใกล้ 40 ปี | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
อายุใช้งานจริงๆของนักฟุตบอลจะอยู่ที่ประมาณ 10-20 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลสภาพร่างกายของแต่ละคน แต่ก็มีผู้เล่นไม่กี่คน ที่อายุ 35 ขึ้นไปแล้วยังได้เป็นตัวหลัก ทั้งในทีมชาติและสโมสรติอาโก้ ซิลวาคือหนึ่งในนั้น กองหลังวัย 38 ปี เป็นตัวหลักและคนสำคัญของทั้งเชลซีและทีมชาติบราซิล ที่กำลังไล่ล่าแชมป์โลกสมัยที่…

ดังที่เห็นเป็นภาพชินตาว่า นายด่านเยอรมัน ทั้งสามารถเซฟ และออกมาเป็นมือสังหารจุดโทษได้อย่างคมกริบในเวลาเดียวกัน ผลลัพธ์ 7 เซฟ จากการยิงจุดโทษ 18 ครั้ง คิดเป็นอัตราร้อยละ 39 ในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ไม่ได้มาเล่นๆ เลยทีเดียว

มาไม้ไหนแก้ลำได้หมด

วิธีคิดเกี่ยวกับการติดตั้งจิตประสาทสุดแกร่งนั้นเป็นเรื่องนามธรรม หากแต่เรื่องรูปธรรมที่ทำให้เยอรมนีมาถึงจุดนี้ได้ นั่นคือ ความเก่งกาจในการ “แก้ลำ” กลยุทธ์การยิงจุดโทษของคู่ต่อสู้ได้บ่อยครั้ง เรียกได้ว่า แก้ลำเก่งจนคนยิงท้อเลยทีเดียว

เมื่อวัดตามสถิติที่ Sky Sports สื่อชื่อดังของอังกฤษรวบรวมไว้ จะพบว่า เยอรมนีเลือกใช้การยิงแบบ “ไร้รูปแบบ” แต่กลับเลือกที่จะ “มีแบบแผน” ในการเชฟ แทนที่

โดยทิศทางการยิงทั้ง 18 ครั้ง พลพรรคอินทรีเหล็กยิงไปทางซ้ายร้อยละ 44 ยิงไปทางขวาร้อยละ 39 และยิงตรงกลางร้อยละ 17 ต้องนับว่า นี่คือการแก้ลำโดยการกระจายความเสี่ยง ไม่ยอมให้ได้รับการอ่านทางได้ง่ายๆ

Photo : Skysports

จุดนี้ ถือว่าแตกต่างจากชาติอื่นๆ ที่มักจะสอนยิงให้มีแบบแผนตายตัว ซึ่งการยิงทั้งหมดของเยอรมนีนั้น มักจะยิงในระดับเรียดพื้น ให้เข้ามุมประตูพอดิบพอดี ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การทำเช่นนี้ หากไม่มีจิตประสาทแข็งแกร่ง คงยากแก่การทำได้เป็นแน่

แน่นอน พลพรรคอินทรีเหล็กส่งบอลตุงตาข่ายไป 17 ลูก พลาดเพียงแค่ครั้งเดียวจาก อูลี สตีลีเก (Uli Stielike) ในฟุตบอลโลก 1982 ที่เจ้าตัวเลือกยิงเข้ากลางประตูค่อนซ้าย แต่โดนเซฟได้แบบนิ่มๆ

แต่ที่สำคัญ การเลือกยิงกลางประตูของเยอรมนี มีจำนวนประมาณ 2 ครั้ง เท่านั้น ก็เท่ากับว่า การยิงของสตีลีเก คืออุบัติเหตุทางฟุตบอลอย่างแท้จริง

ผิดกันกับการที่จะต้องเป็นฝ่ายป้องกันประตู เพราะตามสถิติ ทิศทางการกระโดดของนายทวารคือ พุ่งไปทางขวา 11 ครั้ง จากจำนวนการยิงจุดโทษ 18 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 61 เมื่อพิจารณาจากสถิติเช่นนี้ หมายความว่า ส่วนมาก มือกาวเยอรมนีมักจะ “เอียงขวา” เป็นประจำ

Photo : ESPN

ที่น่าทึ่งคือ มีเพียง 3 ลูก จากคู่ต่อสู้เท่านั้นที่ผ่านมือเข้าประตูไปได้ และจากสถิติทั้งหมด ผู้รักษาประตูเยอรมนีมีการเซฟไป 7 ครั้ง (จาก 18 ครั้ง) คิดเป็นร้อยละ 39 ดังที่กล่าวไป แทบจะมากที่สุดในบรรดาทีมยักษ์ใหญ่เลยทีเดียว

เรียกได้ว่า การกระโดดไปทางขวา นั้นมีความได้เปรียบ หากคิดตามหลักคอมมอนเซนส์ ในแง่ที่ว่า นักฟุตบอลทั่วโลก (จริงๆ ก็คนทั่วโลก) ส่วนมากถนัดขวา และการใช้เท้าขวายิงประตูให้แม่นยำ ส่วนมากจะต้องใช้ “ข้างเท้าด้านใน” ในการยิงแปๆ ไปทางขวา แต่นั่นก็แลกกับความแรงของการยิงไป

ดังนั้น เมื่อจะยิงแบบเน้นแรง แบบทีให้เดียวตุงตาข่าย ให้ผู้รักษาประตูรับไม่ทัน จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ “หลังเท้า” ในการกดเต็มข้อ แต่นั่นก้แลกมากับความยากลำบากในการควบคุมทิศทางให้ได้ดั่งใจ

อาจจะเป็นจุดนี้ ที่วิถีแบบเยอรมนีเล็งเห็น จึงทำให้ส่งต่อความคิดที่ว่า กระโดดขวาไว้ก่อนเป็นดี ต่อให้ไปผิดทางหรือพลาด ก็ยังมีโอกาสที่จะเซฟลูกบอลที่ความคุมความแม่นยำยากนี้ได้มากกว่าการรับลูกแป ซึ่งแน่นอน ผลลัพธ์ดันออกมาดีเกินคาด

นับว่าเป็นการแก้ลำที่เริ่มต้นจากพื้นฐานอย่างไม่น่าเชื่อ หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ

สรรหาเทคโนโลยีมาพัฒนาเสมอ

แน่นอน การแก้ลำเป็นเรื่องของ “กึ๋น” ทางฟุตบอล แต่หากขาดพลวัตของการ “ฝึกซ้อม” ย่อมไม่สามารถที่จะให้ผลลัพธ์ออกมาสมดั่งใจหวังได้ ซึ่งสิ่งที่เยอรมนีทำได้อย่างยอดเยี่ยมไม่มีใครเทียบเทีม นั่นคือ การปรับใช้ “เทคโนโลยี” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกซ้อมฟุตบอล

โดยเมื่อไม่นานมานี้ มีการเปิดเผยว่า ทางสมาคมได้ร่วมมือกับ ซิสเทมอนาไลเซ อุนด์ โพรครัมเอนทวีคคลุง (Systemanalyse und Programmentwicklung) หรือ เอสเอพี (SAP) บริษัทเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ของประเทศ พัฒนาแอพลิเคชัน Penalty Insights ที่ใช้สำหรับเทรนผู้รักษาประตูโดยเฉพาะ

โดยตัวแอพจะรวมรวมสถิติ ความเป็นไปได้ รวมถึงการคาดการณ์รูปแบบการยิงจุดโทษของบรรดาคู่ต่อสู้เยอรมนีต่างๆ จากหลากหลายแหล่ง รวมถึงบรรดานักเตะที่โดดเด่นในการยิงจุดโทษของชาตินั้นๆ ประมวลผลมาเป็นรูปแบบการฝึก ในการรับมือกับจุดโทษที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยจะเน้นย้ำมุมที่คู่ต่อสู้มักจะยิงไปบ่อยๆ รวมถึงท่ายิง บุคลิก และลักษณะนิสัยตอนยิงเข้าไปด้วย

“แอพนี้ช่วยให้กำจัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันในการดวลจุดโทษ นอยเออร์ จะไม่ลก ไม่เหวอ ตอนไปเจอของจริง และหากเป็นไปได้ ยังช่วยให้เขา (นอยเออร์) คาดการณ์ทิศทางจากท่าทางที่คู่ต่อสู้แสดงออกได้ด้วย” คริสโตเฟอร์ เคลเมนท์ (Christofer Clemens) หัวหน้าแมวมองทีมชาติเยอรมนีกล่าว

“ผมรู้ว่าการสัมผัสของจริงเนี่ยสำคัญที่สุด หากแต่นายทวารได้ลองก่อน ได้รู้ข้อผิดพลาดของตนเองก่อน ได้ซ้อมรบก่อนไปแข่งจริง ย่อมดีกว่า” โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ (Oliver Bierhoff) อดีตยอดแข้งเลือดดอยช์ ได้กล่าวเน้นย้ำไปอีกขั้น

ไม่เพียงแต่ข้อได้เปรียบกับผู้รักษาประตู หากแต่บรรดาตำแหน่งอื่นๆ ก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย ในปี 2014 SAP ได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ช่วยให้ลดการเก็บบอลไว้กับตัวของทีมชาติเยอรมนีลง จากแต่เดิมมีค่าเฉลี่ย 3.4 วินาที ก็เหลือ 1.1 วินาที ทำให้เคลื่อนบอลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

“เราได้แชมป์โลกบนแผ่นดินละตินอเมริกาก็เพราะสิ่งนี้นั่นเองครับ” โยอาคิม เลิฟ บุนเดสเทรนเนอร์กล่าวชมเชยประสิทธิภาพของแอพ

Photo : Bundesliga

หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ที่มีการทดลองนำ “โลกความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality : VR)” เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกซ้อม ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมาก ให้แก่บรรดานักเตะที่มีอาการบาดเจ็บ ไม่สามารถลงซ้อมได้แบบปกติ การให้สวมใส่แว่นวีอาร์ ก็จะทำให้ได้ฝึกซ้อมตลอดเวลา

โดยเฉพาะ การฝึกซ้อมยิงจุดโทษ เชฟจุดโทษ ที่ถือได้ว่าง่ายที่สุด ไม่ต้องออกแรงขยับร่างกายเยอะแบบเต็มแมทช์ แม้จะไม่สามารถคงสภาพ หรือเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ หากแต่การพัฒนา “กึ๋น” ผ่านโลกจำลองนี้ ย่อมไม่แพ้กับของจริงๆ แน่นอน

ซึ่ง สมาคมฟุตบอลเยอรมนี หรือ เดเอฟเบ ได้เป็นเจ้าแรกๆ ที่หมายมั่นปั้นมือสร้างสถานที่ใช้วีอาร์ในการฝึกซ้อม โดยตอนนี้ ได้บรรลุข้อตกลงไปบางส่วน และเริ่มทะยอยสร้างเรื่อยๆ แล้ว

ดังนั้น ด้วยการผสานทั้ง วิธีคิดที่เป็นนามธรรม กลยุทธ์แก้ลำที่เป็นรูปธรรม หรือการยกระดับการฝึกซ้อมด้วยสิ่งนำสมัย จึงไม่แปลกใจ หากเยอรมนีจะกลายเป็น “ตัวตึงเมื่อถึงฎีกา” และยังคงสถานะเช่นนี้ต่อมายาวๆ จนถึงปัจจุบันได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

แหล่งอ้างอิง

แชร์บทความนี้
หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ