“เจ” ไม่ใช่เทวดา : จุดกำเนิด “ชนาธิป” แข้งปรากฎการณ์กับสไตล์ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในประเทศไทย

“เจ” ไม่ใช่เทวดา : จุดกำเนิด “ชนาธิป” แข้งปรากฎการณ์กับสไตล์ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในประเทศไทย
ชยันธร ใจมูล

"เจ ทำความคุ้นเคยกับบอลไปก่อน เคาะ ครึง ดึง ดูด เลี้ยง ส่ง โหม่ง ยิง ... นี่คือสิ่งที่พ่อบอกกับผมตลอด" ชนาธิป สรงกระสินธ์ พูดถึงวัยเด็กของเขา วันที่เขายังอยู่ในบ้านเกิดทีจังหวัดนครปฐม ก่อนที่เขาจะเดินลงสู่สนามฟุตบอลเป็นครั้งแรก

นี่คือเรื่องราวของชนาธิป ที่จะสะท้อนให้คุณเห็นว่า หากคุณมีพื้นที่สาธารณะและมีสนามฟุตบอลในชุมชนทั่วประเทศ ... คุณมีโอกาสจะได้เห็นนักเตะที่มหัศจรรย์อย่าง "เมสซี่เจ" มากขึ้นแค่ไหน 

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดที่นี่ 

สนามที่เป็นจุดเริ่มต้นเเห่งความฝัน

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของ ชนาธิป มากันไม่น้อย นี่คือนักเตะประวัติศาสตร์ของทีมชาติไทยตลอดกาลคนหนึ่ง กว่าที่เขาจะมาถึงจุดนี้ มีความพยายาม ความมุ่งมั่น และความใจสู้ เกิดขึ้นมากมายในเส้นทางอาชีพของเขา... ตั้งแต่เด็ก จนวันที่เขามีทุกวันนี้  

ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม "พ่อจุ้ง" ก้องภพ สรงกระสินธ์ คือชายที่บ้าฟุตบอล พยายามศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้านฟุตบอลต่าง ๆ เพื่อเอาสอนให้กับลูกชายของเขา 

ชนาธิป อยู่กับลูกฟุตบอลมาตั้งแต่ 4 ขวบ เขาเล่นกับลูกฟุตบอลที่บ้านเพื่อฝึกทักษะต่าง ๆ เพียงคนเดียวมานาน จนกระทั่งวันที่เขาโตขึ้น เขาได้ไปในสนามฟุตบอลใกล้บ้าน ที่ ๆ เขาได้เห็นรุ่นพี่และเพื่อน ๆ หลายคนได้ลงเล่น ทว่าตัวของเขานั้นได้เพียงแต่ดูเท่านั้น 

เนื่องจากพ่อของเขามองว่า ชนาธิป ที่ตัวเล็กกว่าเด็กคนอื่น ๆ และสนามฟุตบอลใกล้บ้านของเขาก็เต็มไปด้วยเด็กที่อายุเยอะกว่าหรือไม่ก็ตัวใหญ่กว่า ดังนั้นเขาจึงพยายามฝึกหัดให้ลูกชายได้ฝึกทักษะคนเดียวไปก่อนจนกว่าจะพร้อมที่สุด ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลทีว่าทำไม ชนาธิป จึงเป็นนักเตะที่มีเบสิคฟุตบอลพื้นฐานแน่นมาก ไม่ว่าจะเท้าซ้ายเท้าขวา ส่งใกล้ สงไกล หรือแม้กระทั่งการยิงประตู เขาก็สามารถทำได้ดีทั้งนั้น 

จนกระทั่ง ชนาธิป ได้โตขึ้นพอจะเล่นกับคนอื่น ๆ ได้ สนามฟุตบอลในอำเภอสามพรานที่เขาเฝ้ารอก็เหมือนว่าจะเล็กเกินไป ชนาธิป ที่ฝึกทักษะจนแน่นเปรี๊ยะ ร่ายเพลงแข้งของเขาเอาชนะเด็กรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่ที่ตัวใหญ่กว่าได้สบาย ๆ จนตัวของเขาได้กลายเป็นตำนานที่ถูกกล่าวถึงในฐานะ "เด็กตัวเล็ก ๆ ที่ทักษะเหลือร้าย" ที่สุด ณ เวลานั้น 

อย่างไรก็ตามเส้นทางต่อไปนั้นไม่ง่ายเมื่อมาถึงจุดที่ต้องออกจากการเป็น "เก่งเล็ก" ไปสู่การเป็น "เก่งใหญ่"  ... ซึ่งตอนนั้นก็เป็นช่วงสำคัญของชีวิตของเขาอย่างแท้จริง 

ในเวลานั้น ชนาธิป ได้เข้าไปศึกษาที่ วิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการราชดำเนิน หนึ่งในสุดยอดสถาบันลูกหนังขาสั้นของวงการฟุตบอลไทย หลังเรียนจบ ม.ปลาย  ซึ่งกว่าจะผ่านมาได้ เขาก็โดนดูถูกเรื่องที่ตัวเล็กกว่าคนอื่น ๆ  โตตามเพื่อนร่วมรุ่นไม่ทัน แรงปะทะไม่ไหว ยากที่จะได้เป็นนักฟุตบอล ตอนนั้นถึงขั้นที่ว่ามีการแนะนำให้ ชนาธิป หันไปเอาดีด้านการเดาะบอล แทนการฝันที่จะเป็นนักเตะอาชีพด้วยซ้ำ 

อย่างไรก็ตามแม้ร่างกายอาจจะเป็นแต้มต่อให้กับกีฬาฟุตบอล แต่มันไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะชี้วัดว่านักเตะคนนั้นเก่งแค่ไหน ยังมีปัจจัยอื่น ๆ มากมายเช่นเรื่องของ ทักษะเชิงบอล, วินัย, ความมุ่งมั่น และหัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ ... ซึ่งจุดนี้ ชนาธิป สามารถเอามันมาทดแทนเรื่องร่างกายได้อย่างไม่มีปัญหา 

เอาชนะด้วยทักษะ 

ภาพวันที่พ่อจุ้ง ฝึกเขาตั้งแต่ 4 ขวบ ให้เล่นกับลูกฟุตบอลทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะที่บ้าน หรือสนามฟุตบอลใกล้บ้าน เป็นสิ่งที่ฝังในความทรงจำ และทำให้ชนาธิป สามารถใช้ทักษะที่เรียกว่า "กล้ามเนื้อจดจำการเคลื่อนไหวได้" หรือ Muscle memory   ... การเลี้ยงหลบเอาตัวรอดในสนามด้วยความรวดเร็ว คล่องแคล่ว เป็นธรรมชาติ ถือเป็นสัญชาติญาณของชนาธิป ที่เรียกได้ว่าเป็นเบอร์ 1 ตลอดกาลของประเทศไทยเลยก็ได้ 

เราไม่เคยเห็นนักเตะคนไหนทีคล่องแคล่ว ชนิดที่ว่าจับยังไงก็เอาไม่อยู่แบบชนาธิปมานานแค่ไหน ? แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นนักเตะรุ่นใหม่ ๆ คนไหนที่ทำได้ใกล้เคียงกับที่ชนาธิปทำเลย นั่นคือเหตุผลที่ว่าการฝึกซ้อมตั้งแต่เด็ก คือเเรงขับที่ส่งเขาก้าวขึ้นสู่ระดับการเล่นที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และการเอาชนะด้วยทักษะ กลายเป็นอาวุธที่แม้แต่ในระดับ เจลีก ก็ยังต้องซูฮกกับการเคลื่อนไหวที่แสนจะเป็นธรรมชาติของเขา 

จากเด็กที่โตตามเพื่อนไม่ทัน ชนาธิป ช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ฟุตบอลนักเรียนกรมพลศึกษารุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ประเภท ก. พ่วงด้วยรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของรายการ เมื่อปี 2011 จนฟอร์มไปเข้าตา บีอีซี เทโรศาสน หรือ โปลิศ เทโร ในปัจจุบัน จึงจับเจ้าตัวเซ็นสัญญาเป็นนักเตะเยาวชนของสโมสร โดยผลงานชิ้นโบว์แดง คือการพา มังกรไฟจูเนียร์ ผงาดคว้าแชมป์ เอฟเอ ยูธ คัพ 2011

และด้วยผลงานที่โดดเด่นเกินเพื่อน ๆ ภายในรุ่น ทำให้เทโรตัดสินใจใส่ชื่อของเขาลงเล่นไทยลีกในฤดูกาล 2012 ขณะที่ ชนาธิป อายุได้เพียง 19 ปี แต่แม้จะเป็นฟุตบอลอาชีพครั้งแรกในชีวิตแต่เขากลายเป็นตัวหลักของทีมทันที พร้อมทั้งมีชื่อติดทีมชาติไทยชุดลุยศึกเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2012 ทำให้ในช่วงเวลานั้น ชนาธิป ถูกยกย่องว่าเป็นวอนเดอร์คิดของวงการฟุตบอลไทย

จากนั้นเราแทบไม่ต้องพูดกันอีกแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาอีกบ้าง ชนาธิป เดินหน้าไม่หยุด และกลายเป็นผู้แผ้วถางทางให้นักเตะไทยคนอื่น ๆ เริ่มตามเขาไปค้าแข้งในเจลีก และสร้างบรรทัดฐานใหม่ ๆ ขึ้นมาทำให้วงการฟุตบอลไทยรู้ว่า ประเทศของเรายังต้องการคนอย่างชนาธิป อีกเป็นสิบ ๆ หรือเป็นร้อย ๆ คน หากเราหวังที่จะไปฟุตบอลโลก ตามที่หลายคนเฝ้าฝันถึงมาเสมอ แล้วจะทำยังไงล่ะเพื่อไปถึงจุดนั้น ? 

ทุกอย่างเริ่มได้ที่ใกล้บ้าน 

เรื่องราวที่กล่าวมาของชนาธิป ทำให้เราเห็นถึงจุดกำเนิดของนักเตะประวัติศาสตร์ทีมชาติไทยว่า แท้จริงแล้วเขาไม่ใช่เทวดาหรือเด็กที่เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ระดับโลก ในแบบที่คนอื่นทำตามไม่ได้เลยด้วยซ้ำ 

ชนาธิป ก่อกำเนิดขึ้นมาจากคนที่เอาจริงเอาจังกับความฝัน คนที่อยากจะเอาชนะตัวเองด้วยการไต่ระดับให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ แบบที่ไม่มีเพดานอะไรมาขวางกั้น ... เขาเริ่มต้นจากแค่ฟุตบอลที่ทำมาจากกระดาษหนังสือพิมพ์ม้วนกันเป็นก้อน เขาลงเล่นในสนามฟุตบอลแถวบ้านโดยที่ได้แต่นั่งมองคนอื่น ๆ เล่นกัน 

ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา มีเหตุผล และหลักการ เพราะความทุ่มเท คือบ่อเกิดแห่งทุกสิ่ง และจะดีกว่าไหมถ้าทั่วประเทศไทยมีสนามฟุตบอล หรือมีพื้นที่สาธารณะนักให้เด็ก ๆ ได้ค้นพบความรักของพวกเขาที่มีต่อกีฬาฟุตบอล ให้พวกเขาได้ซ้อม ได้เล่น ได้สนุก และได้เริ่มจุดประกายความแห่งความฝันเหมือนที่ ชนาธิป ได้รับ และส่งต่อให้เด็ก ๆ ในอำเภอสามพรานหลาย ๆ คน

สนามฟุตบอลใกล้บ้านคือสิ่งที่ทุกคนควรหันมาให้ความสำคัญ เหมือนกับโครงการ 'Dream Stadium…สนามแห่งฝัน'  ของที่ทาง Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้เล็งเห็นว่าสนามฟุตบอลสามารถเปลี่ยนอนาคตของเด็กคนหนึ่งได้มากขนาดไหน และเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาด้วยความมุ่งมั่นกับความฝัน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศชาติได้มากแค่ไหน

ดังที่ชนาธิป สรงกระสินธ์ แสดงให้คนไทยทุกคนได้เห็น ... ว่าความสุดยอดของเขาไม่มีทางลัด ทุกคนต้องใช้กัน เพื่อให้มี เมสซี่เจ คนต่อ ๆ ไปมาประดับวงการฟุตบอลไทยให้ได้ 

 

แชร์บทความนี้
หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ